การจัดดอกไม้ทรงพานพุ่ม
โครงการ “เย็บร้อย ค่อยจีบ ประดิษฐ์ใบตอง” ระดับชาติ ครั้งที่ 1 จัดขึ้นโดยมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต (มสด.)ศาสตราจารย์ มณีรัตน์ จันทนะผลิน อาจารย์ประจำหลักสูตรคหกรรมศาสตร์ โรงเรียนการเรือน มสด. ประธานคณะกรรมการตัดสิน กล่าวว่า ตั้งแต่สมัยโบราณเป็นต้นมา มนุษย์นิยมใช้ใบตองห่ออาหาร และขนมต่างๆ รวมถึงการดำเนินชีวิตประจำวัน ได้มีผู้ประดิษฐ์ใบตองเพื่อความสวยงาม อาทิ กระทงบายศรี และภาชนะต่างๆ ตลอดจนการเกิดวิวัฒนาการงานฝีมืออันมีต้นกำเนิดจากพระบรมมหาราชวัง โดยการนำลูกหลานเข้าถวายตัว เพื่อขอรับการฝึกศิลปวัฒนธรรม และเริ่มมีการประกวด ประชันกันอย่างแพร่หลายในหมู่ประชาชนทั่วไป
“มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตมีการพัฒนาต่อเนื่องและยาวนานบนรากฐานวัฒนธรรมดั้งเดิมของความเป็นไทยภายในเขตพระราชฐาน เริ่มจากก่อตั้งเป็นโรงเรียนการเรือนแห่งประเทศไทย ภายใต้ชื่อ “โรงเรียนมัธยมวิสามัญการเรือน” เพื่อฝึกวิชาการเรือนสำหรับสตรี ทั้งด้านอาหาร โภชนาการ ศิลปะประดิษฐ์การตัดเย็บเสื้อผ้า เพื่อให้เยาวชนของชาติ ได้ตระหนักถึงคุณค่าของการอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ด้านศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตจึงได้จัดกิจรรมนี้ขึ้นเพื่อให้นิสิต นักศึกษาได้ร่วมอนุรักษ์และสืบสานมรดกอันล้ำค่าของชาติในการประดิษฐ์ใบตอง และวัสดุธรรมชาติสืบต่อไป”
สำหรับการประกวดระดับอุดมศึกษา แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ การประกวดตกแต่งต้นเทียนพรรษา การประกวดพานพุ่มเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในวโรกาสพระชนมายุ 83 พรรษา และการประกวดการจัดดอกไม้แนวประณีตศิลป์ โดยมีกฎเกณฑ์การตัดสินจาก ความพร้อม รูปร่าง รูปทรง ขนาด สัดส่วน สีสัน ความประณีต ความกลมกลืน และความคิดสร้างสรรค์
ผลปรากฏว่า รางวัลชนะเลิศประเภทตกแต่งต้นเทียนพรรษา ตกเป็นของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร (โชติเวช) รับถ้วยรางวัลพร้อมทุนการศึกษา 20,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ วิทยาลัยอาชีวศึกษาลำปาง รับถ้วยรางวัลพร้อมทุนการศึกษา 15,000 บาท และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ตาก รับถ้วยรางวัลพร้อมทุนการศึกษา 10,000 บาท
สำหรับการประกวดพานพุ่มเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุ 83 พรรษา รางวัลชนะเลิศตกเป็นของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร (โชติเวช) รับถ้วยรางวัลพร้อมทุนการศึกษา 10,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เขตพื้นที่พิษณุโลก รับถ้วยรางวัลพร้อมทุนการศึกษา 8,000 บาท และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ วิทยาลัยอาชีวศึกษาลำปาง รับถ้วยรางวัลพร้อมทุนการศึกษา 6,000 บาท
ส่วนการประกวดการจัดดอกไม้แนวประณีตศิลป์ รางวัลชนะเลิศเป็นของวิทยาลัยอาชีวศึกษาเชียงใหม่ รับถ้วยรางวัลพร้อมทุนการศึกษา 10,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน จังหวัดนครราชสีมา รับถ้วยรางวัลพร้อมทุนการศึกษา 8,000 บาท และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ รับถ้วยรางวัลพร้อมทุนการศึกษา 6,000 บาท
“เราเน้นการจัดรูปทรง สีสัน และลูกเล่นจากการไล่สีดอกไม้ รวมไปถึงความหมายจากดอกไม้ที่นำมาใช้ เช่น ดอกดาวเรืองสีเหลืองที่สื่อความหมายถึงความรุ่งเรือง ดอกรัก-ดอกพุดที่เกี่ยวกับศาสนา เพื่อป้องกันการสีของใบตองและดอกไม้เปลี่ยน สำหรับเทคนิคที่สำคัญที่ทำให้งานนี้ออกมาได้อย่างสำเร็จ คือ ความชื่นชม และความสามารถของสมาชิกในทีมทั้ง 10 คน แค่เรามีฝีมือการเย็บ ร้อยดอกไม้ แล้วนำมาผสมผสานกับศิลปะของการจัดดอกไม้ก็ทำให้เกิดผลงานที่แปลกใหม่ และมีความหมายอยู่ในตัวของผลงานชิ้นนั้น”
ด้าน ศักรินทร์ หงส์รัตนาวรกิจ อาจารย์ที่ปรึกษากล่าวเสริมว่า เด็กแต่ละคนมีฝีมือและความสามารถที่แตกต่างกัน ดังนั้นจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการแบ่งหน้าที่ของการทำงานให้ชัดเจนมายิ่งขึ้น “เด็กนักศึกษาบางคนชอบร้อยมาลัย บางคนชอบเย็บใบตอง เราก็จะมอบหน้าที่นั้นไป ให้ผลงานออกมาเป็นฝีมือของคนคนเดียว สิ่งที่สำคัญของการทำงานชิ้นนี้ เด็กจะต้องมีสมาธิระหว่างการทำงาน พยายามใช้ศิลปะอย่างถูกวิธี ซึ่งเรามีการเตรียมพร้อมก่อนเข้าร่วมงาน 3 วัน เย็บกลีบดอกไม้ไว้ก่อน เช่น การเย็บใบตองจะสามารถเก็บไว้ได้นาน 3 วัน และดอกไม้สด 2 วัน ใช้วิธีการห่อผ้าและนำไปแช่ตู้เย็น จะทำให้สีสดไม่เหี่ยวง่าย”
“บิล-อรรถพล เลโหย่" นักศึกษาจากวิทยาลัยเชียงใหม่ เผยถึงเทคนิคการจัดดอกไม้แนวประณีตศิลป์ว่า การจัดดอกไม้แต่ละครั้งไม่ว่าจะเป็นรูปแบบพานพุ่ม จัดต้นเทียนพรรษาก็ตามจะต้องมีรูปแบบและแรงบันดาลใจในการทำผลงานแต่ละครั้งเพื่อให้ผลงานออกมาอย่างมีความหมาย “เสน่ห์ของการจัดดอกไม้อยู่ที่ความสุขของผู้จัด หากไม่มีใจรักหรือชื่นชม ทำอย่างไรผลงานก็ออกมาไม่สวย ต้องรักและอยากจะทำจริงๆ ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้หญิงเท่านั้น ผู้ชายก็สามารถทำได้เช่นกัน จากผลงานที่เข้าประกวดจนได้รับรางวัล เราใช้ธรรมชาติในการสื่อความหมาย ความสดใสของดอกไม้ ธรรมชาติที่ใช้น้ำพุมาเป็นองค์ประกอบในการจัด รวมไปเทคนิคการจัดที่ไม่เน้นด้านใดด้านหนึ่ง แต่จะสามารถมองผลงานได้รอบด้านและสวยงาม”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น